ประวัติ
- รายละเอียด
- หมวด: Uncategorised
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 04 พฤศจิกายน 2556 12:55
- เขียนโดย dhammadana
- ฮิต: 95520
ประวัติย่อของท่านพุทธทาสภิกขุ
กำเนิดและวัยแห่งชีวิต
ท่านพุทธทาสภิกขุ เดิมชื่อ เงื่อม พานิช โยมบิดาชื่อ นายเซี้ยง โยมมารดาชื่อ นางเคลื่อน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพบุรุษทางฝ่ายโยมบิดามาจากเมืองจีน แต่โยมบิดาเกิดที่พุมเรียง สกุลเดิมทางบรรพบุรุษ คือ แซ่โข่วหรือ ข่อ ออกเสียงแต้จิ๋วเป็นแซ่โค้ว ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุล ทางการจึงเปลี่ยนให้เป็น "พานิช"เพราะทำการค้าขาย ส่วนทางโยมมารดาเป็นคนไทย เป็นชาวท่าฉาง ท่านพุทธทาสมีพี่น้อง ๓ คน ท่านเป็นคนโต น้องคนรองเป็นชายชื่อ ยี่เกย หรือ นายธรรมทาส น้องสุดท้องเป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย
สู่เพศบรรพชิต
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพุทธทาสมีอายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทที่วัดนอก(อุบล) และมาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง) โดยมีท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดนอก (อุบล) และพระครูศักดิ์ ธมฺมรกขิโต เจ้าอาวาสวัดหัวคู (วินัย) เป็นพระคู่สวด ท่านได้ฉายว่า"อินฺทปญฺโญ"
การเรียน การศึกษา มิใช่การอ่าน หรือท่องๆ จำ แต่เป็นการเห็นที่ถูกต้องและสมบูรณ์ด้วยตนเองการก่อตั้งสวนโมกข์พุมเรียงและสวนโมกข์ไชยา ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านพุทธทาสได้ลงมาจากกรุงเทพฯ และเริ่มมองหา สถานที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน ๔–๕ คน ได้แก่ นายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงษ์วานิช นายกวย กิ่งไม้แดง ได้ออกไปสำรวจและตกลงใจเลือกวัดร้างชื่อ วัดตระพังจิกในวันวิสาขะ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ "สวนโมกข์พุมเรียง" จึงเริ่มเปิดกิจการ ทั้งนี้โดยท่านพุทธทาสได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ ๓ ข้อคือ
๑. การค้นคว้าพระไตรปิฎก (ปริยัติ)
๒. การตามรอยพระอรหันต์ (ปริยัติ)
๓. การเผยแพร่ ความรู้ ธรรมะ ชั้นลึกสำหรับที่มาของชื่อ "สวนโมกขพลาราม" นั้น ท่านกล่าวว่า ในบริเวณนั้นมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ ท่านจึงนำเอาคำ โมก และ พลา มาต่อกัน ซึ่งก็ได้ความเต็มคำว่า "กำลังแห่งความหลุดพ้น" และเมื่อรวมกับคำว่า อาราม ซึ่งแปลว่าที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ จึงกลายมาเป็นชื่อ สำนักป่า ชื่อตรงกับวัตถุที่ท่านประสงค์ กล่าวคือ เพื่อส่งเสริมวิปัสสนาธุระและเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้นและที่มาของชื่อ "พุทธทาส" เป็นเพราะท่านตั้งใจจะรับใช้พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นทาส โดยท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "พุทธทาส" ว่า..."เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรดีกว่า ชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปอีกกี่ปีก็ตามใจ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดและสูงสุดก็ควรจะทำงานนี้คือ รับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไป มีประโยชน์แก่คนทุกคนในโลกแล้วกัน" ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ก่อตั้งคณะธรรมทาน เพื่อสนับสนุนกิจการของสวนโมกข์ สำหรับทุนรอนในครั้งแรกได้มาจากมรดกของโยมมารดา และต่อมาพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ผู้ซึ่งเป็นสหายธรรมหมายเลข ๑ ได้ปวารณาตัวรับใช้ทุกประการ จึงถึงกับลาออกจากราชการในเวลานั้น เพื่อมาช่วยทำงานในพระศาสนาให้แก่ท่านด้วยต่อมา ท่านพุทธทาสได้มาสร้างสวนโมกข์–ไชยา (ในปัจจุบัน) ขึ้น อันเนื่องมาจากท่านได้เทศน์และพักค้างที่วัดชยารามเป็นประจำ จึงดำริที่จะสร้าง "สโมสรธรรมทาน" เมื่อออกหาไม้ในป่า จึงมาพบป่าบริเวณนี้ที่เรียกว่า "ด่านน้ำไหล" ในขณะนั้นยังมีสัตว์ป่าชุกชุมอยู่มาก
ใน ๒ ปีแรก ท่านพุทธทาสยังไม่ได้มาพักอยู่ที่สวนโมกข์–ไชยา แต่ได้ขอให้พระมหาเฉวียน จากวัดชยารามมาอยู่เป็นองค์แรก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ สวนโมกข์–พุมเรียง จึงต้องปล่อยให้เลิกร้างไปที่สวนโมกข์–ไชยานี้ ท่านพุทธทาสได้จดทะเบียนเป็นวัด ใช้ชื่อว่า "วัดธารน้ำไหล" แต่ชาวบ้านเรียกกันเองว่า "วัดเขาพุทธทอง" ตามชื่อภูเขากลางวัด เดิมที่ท่านต้องการให้สวนโมกข์เป็นองค์การอิสระ ไม่ต้องทำตามระเบียบของวัด ด้านหน้าใช้เป็นวัด ด้านหลังเป็นสวนโมกข์ แยกกันทางกฎหมาย แต่ต่อมาภายหลัง ได้ยกให้เป็นของวัดธารน้ำไหลทั้งหมดภายในสวนโมกข์–ไชยา ท่านพุทธทาสได้สร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มากมาย โดยมีกำลังสนับสนุนในการสร้าง ทั้งจากพระเณรและฆราวาส สิ่งก่อสร้างได้แก่
–โรงมหรสพทางวิญญาณ
–เรือใหญ่-เล็ก ๒ ลำ ซึ่งใช้เป็นที่ประชุม ที่พักพระจรมาหรือฆราวาสชาย รวมทั้งเป็นที่เก็บน้ำฝนด้วย
–รูปปั้นและภาพปั้นพุทธประวัติ
–รูปปั้นอวโลกิเตศวร
–โบสถ์แบบสวนโมกข์
–ลานหินโค้ง ซึ่งปกติจะเป็นสถานที่ใช้ฟังเทศน์ เลี้ยงพระ ทั้งนี้เพราะท่านต้องการสาธิตว่า สมัยพุทธกาลทำกันอย่างไร
–นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนหิน สระนาฬิเกร์ ซึ่งท่านถือว่าเป็นอุปกรณ์ของมหรสพทางวิญญาณด้วย และส้วมแบบสวนโมกข์
–ศาลาธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมผลงานของท่านพุทธทาสทั้งหมด ตลอดจนเป็นที่บรรจุศพของท่านตรงบริเวณใต้ฐานพระพุทธรูปสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในสวนโมกข์เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย จากญาติโยมพุทธบริษัท ที่รู้จักมากขึ้น เข้ามาช่วยกันสร้าง ซึ่งท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า จะสร้างสิ่งใดในที่นี้จะมีธรรมเนียมไม่จารึกชื่อไว้
ความรู้ของท่านพุทธทาส
การที่ท่านพุทธทาสมีความรู้แตกฉานในศาสตร์ต่าง ๆ มากมายนั้น ก็สืบเนื่องจากความสนใจในการศึกษาซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงสามเณร กรุณา กุศลาสัย ดังนี้ "...ผมเองก็เป็นนักศึกษาโดยตนเอง ทุกประเภทวิชชา..." และ "...ต้องเรียนเอาเองเรื่อย ๆ จากหนังสือทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงจากหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษนับว่าไม่รู้อะไรเลย เพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเองอีกเมื่อบวชแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้พอที่จะนับว่าคล่องตัว หรือพอใช้แก่การงานของตัว ภาษาไทยนับว่าพอคล่องตัว แต่ก็ยังต้องเรียนไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งสองอย่าง ธรรมเคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปี ต่อนั้นเรียนลำพังเอง ไปขอสมัครสอบได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ธรรมเลย ยังเรียนเองเรื่อย ๆ กระทั่งบัดนี้และทั้งเชื่อว่ายังต้องเรียนไปเองอีกนาน... สำหรับภาษาบาลียิ่งร้ายกาจใหญ่ ควรจะเรียนกันตั้ง ๑๐–๑๒ ปี ผมเรียนในโรงเรียนเพียง ๖–๗ เดือน เรียนกับท่านอาจารย์ของตัวเองในกุฏิราว ๑ ปี แล้วก็ไปขอสมัครสอบ ก็สอบได้เป็นเปรียญตรี (๓ ประโยค) เบื่อเต็มทน ปีต่อมาไปขอสมัครสอบเฉย ๆ ตก ๔ ประโยค หยุดเสียชั่วคราว เพิ่งจับเรียนด้วยตนเองอีกเมื่อปี ๒๔๗๕ เรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้วันละเล็กละน้อยเสมอ และยังคงรักที่จะเรียนไปเรื่อย ๆ บัดนี้กลายเป็นทำงานพลางเรียนพลาง... ส่วนวิชชาอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดีต่าง ๆ ฯลฯ สะสมตำราเรียนเองอย่างเดียว คู่เคียงกันมาจนกระทั่งบัดนี้เหมือนกันเจตนามุ่งมั่นของท่านพุทธทาส ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ก็คือ "การลงมือปฏิบัติธรรม" ในชั้นต้น ท่านก็ยังคิดว่า ความรู้ของท่านยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ท่านจึงคิดค้นหาหลักเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "...เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติ หากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ..." ท่านจึงได้ลงมือค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาได้รวบรวมหลักการและเขียนเป็นหนังสือ "ตามรอยพระอรหันต์" อีกทั้งยังได้คัดเลือกเอาพระไตรปิฎกส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอีกด้วย
จากนี้ ท่านพุทธทาสยังได้ศึกษาปรัชญาต่าง ๆ เช่น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาตะวันตก เป็นต้น ท่านเล่าว่า ปรัชญาอินเดียบางส่วนเป็นรากฐานของพุทธศาสนาเช่นกัน แต่ปรัชญาทางตะวันตกจะไม่ลึกซึ้งสูงสุดไปในทางดับทุกข์ หรือเพื่อ มรรค ผล นิพพาน แต่ประการใด ท่านพุทธทาสยังได้ศึกษาค้นคว้าในศาสนาและลัทธิอื่นๆอีกด้วยได้แก่ ศาสนาคริสต์ ลัทธิเซน มหายาน วัชรยาน โหราศาสตร์ เป็นต้น ท่านยังได้ศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์ และค้นพบว่า
"หลักพุทธศาสนา หัวข้อธรรม ต้องการพิสูจน์ทดลอง ไม่ต้องการคาดคะเนคำนวณ มันผิดหลักกาลามสูตร ตรรกเหตุ นยเหตุ มันต้องพิสูจน์ทดลองจนทนต่อการพิสูจน์ ว่ามันดับทุกข์ได้ เพียงแต่พอใจแล้วว่า พุทธศาสนานี่มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์..."พุทธศาสนาจะเผชิญหน้ากับโลกในสมัยวิทยาศาสตร์ได้ถึงที่สุด คือโลกในอนาคตเมื่อวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะช่วยโลกได้ เราก็เสนอหลักธรรมะหรือธรรมะเข้าไปให้วิทยาศาสตร์สามารถใช้วิทยาศาสตร์ช่วยโลกได้..."
"...กฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี กฎอิทิปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่ แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มสนใจเรื่องต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของวิกฤติการณ์กันอย่างเต็มที่ พบแล้วก็จำกัดหรือควบคุมตามแต่กรณี เรื่องร้าย ๆ ในจิตใจของมนุษย์ก็จะลดลง..."ท่านพุทธทาสเป็นผู้ใฝ่รู้และศึกษาค้นคว้าอย่างมากมายและมิได้หยุดอยู่นิ่งอาทิเช่น ทางด้านพฤกษาศาสตร์ ทางด้านโบราณคดี เป็นต้น แต่มาในภายหลัง ท่านได้มุ่งศึกษาในทางดับทุกข์มากกว่าศาสตร์อื่น ๆท่านได้กล่าวถึงหลักในการศึกษาเรียนรู้ว่า "...ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งต้นการศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ ไม่ว่าเรื่องอะไร...มันมีหลักอย่างนั้นคือ มันเรียนมาก คิดมาก มันทบทวนมาก มันก็เลยได้ผลดีกว่า ที่จะตั้งใจสอน...
ธรรมะปฏิบัติของท่านพุทธทาส
สำหรับธรรมะที่ท่านพุทธทาสใช้มากที่สุดในชีวิตปฏิบัติธรรมคือ "การพินิจพิจารณาสติสัมปชัญญะ ใคร่ครวญ โดยโยนิโสมนสิการ" ท่านกล่าวว่า "...ได้รับประโยชน์มากที่สุด เป็นการเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้ง มันก็มาจาก โยนิโสมนสิการ ไม่ว่าเรื่องบ้าน เรื่องโลก เรื่องธรรม...การรับเข้ามาโดยวิธีใดก็ตาม เช่น ฟังจากผู้อื่น อ่านจากหนังสือหรือจากอะไรก็ตามที่เรียกว่า นอกตัวเรา ฟังเข้ามาพอถึงแล้ว...ก็โยนิโสมนสิการ เก็บไว้เป็นความรู้ เป็นสมบัติ พอจะทำอะไร จะลงมือทำอะไร ก็โยนิโสมนสิการ ในสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุด มันก็ผิดพลาดน้อยที่สุด เรียกว่าไม่ค่อยจะผิดพลาดเลย เท่าที่จำได้ในความรู้สึก...เพราะเราเป็นคนโยนิโสมนสิการตลอดเวลา และรู้สึกว่าฉลาดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ ถ้าจะเรียกว่า ฉลาดนะ..."
ธุดงควัตรของท่านพุทธทาส
กล่าวคือ ท่านพุทธทาสฉันเพียงหนเดียว บิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้า ๓ ผืน ท่านเล่าว่า "...เราถือ ๓ ผืน แบบใช้ผ้าอาบด้วย แต่ก็มีบางทีเหมือนกัน ซักสบง ก็ต้องนุ่งจีวรแทน จีวรถ้าเอามาพับกลางตามยาว ก็เท่ากับสบง ๒ ชั้น นุ่งแทนสบงจนกว่าสบงจะแห้ง ถ้าถือ ๓ ผืน ต้องถืออย่างนี้..."ในระยะแรกที่ท่านพุทธทาสย้ายเข้ามาที่สวนโมกข์–ไชยา ท่านมีบริขารและสิ่งของจำเป็นที่ใช้อยู่ไม่กี่อย่าง ได้แก่ บาตร ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวทำด้วย แก้วลอยไส้ จุดอยู่หน้าพระพุทธรูป หนังสือ ๒–๓ เล่ม ต่อมาเมื่อท่านเริ่มเขียนหนังสือจริงจังขึ้น ท่านจึงมีกุฏิและตะเกียงหลอด เป็นตะเกียงน้ำมันขนาดเล็กมีหลอดแก้วยาวสำหรับผ้าห่ม มุ้งและหมอน ท่านจะใช้จีวรหรือบางครั้งจะใช้สังฆาฏิห่มเป็นผ้าห่ม ส่วนหมอนท่านใช้ไม้สองอันวางหัวท้ายแล้วใช้ไม้กระดานเล็ก ๆ ตอกขวางคล้ายม้ารองนั่งแต่เตี้ย ๆ เท่ากับหมอน และใช้ผ้าสังฆาฏิพับ ๆ รองเสียชั้นหนึ่ง ซึ่งหมอนอย่างนี้เป็นของธรรมดา ๆ ที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ทั่วไป สำหรับมุ้งท่านไม่ได้ใช้ แต่จะใช้ในยามที่ไม่สบาย ตามปกติจะให้ ตากวย ลูกศิษย์ สุมไฟกันยุงให้เท่านั้นธุดงควัตรของท่านพุทธทาส ท่านถือหลัก "การเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ" ท่านกล่าวว่า "...เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ เพื่อให้จิตใจเกลี้ยง ช่วยให้จิตใจเหมาะกับที่จะเข้าใจธรรมชาติง่ายขึ้น... ในแง่ของที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือในแง่ที่มันจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ซึ่งไม่ต้องดัดแปลง ไม่ต้องลำบากยากเย็น..."นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวอีกว่า "...มันไม่มีแบบอะไรที่ตายตัว เอาตามสบายอย่างง่ายที่สุด อย่าให้มันมีปัญหาก็แล้วกัน ไปจำกัดตายตัวอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งบ้าใหญ่ อย่าไปรู้ไปชี้มันมากนักแหละดี "
งานเขียนหนังสือ
หลังจากที่ท่านสร้างสวนโมกข์–ไชยา ไม่นาน ท่านคิดทำหนังสือ "พุทธสาสนา" โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ธรรมะ และเพื่อแถลงกิจการของคณะธรรมทานและสวนโมกข์ ท่านเล่าว่าในยุคนั้นที่กรุงเทพฯเคยมีหนังสือพิมพ์ "ธรรมจักษุ" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า (กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) แต่เมื่อสิ้นท่านก็ได้หยุดไป เมื่อท่านพุทธทาสออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาในต่างจังหวัด ทางกรุงเทพฯ จึงรื้อทางกรุงเทพฯ จึงรื้อฟื้น "ธรรมจักษุ"
ชุดธรรมโฆษณ์ (วรรณกรรมหลัก)
"ระเบิดภูเขาหิมาลัย" หนังสือที่ออกมาเพื่อต่อต้านเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" โดยโจมตีว่า พุทธทาสภิกขุ รับจ้างคอมมิวนิสต์มาทำลายพระศาสนา และมีการนำเรื่องดังกล่าวฟ้องพระเถระผู้ใหญ่ด้วย แต่ไม่เป็นผล
นามปากกาที่ท่านพุทธทาสใช้มีมากมาย ได้แก่ "พุทธทาส" จะเขียนเรื่องธรรมะโดยตรง "อินฺทปญฺโญ" กับ "ธรรมโยธ" จะเขียนเรื่องให้คนโกรธ เพราะจะวิจารณ์กันอย่างแรง กระทบกันแรง "สิริวยาส" เขียนโคลงกลอน "สังฆเสนา" เขียนแบบนักรบเพื่อธรรม ส่วน "ทุรโลกา รมณจิต" เขียนเรื่องปรารถนาโลก "ข้าพเจ้า" เขียนเรื่องแง่คิดขำ ๆ "นายเหตุผล" เป็นการแกล้งเขียน เป็นเจตนาที่จะให้ผู้อ่านคิดนึกในทุกแง่ทุกมุม แกล้งเขียนค้านพุทธศาสนา ถ้าจะค้านมันจะค้านได้อย่างนี้ ให้คนอื่นได้วินิจฉัยได้ความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้นต่อมาเมื่อท่านพุทธทาส มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก โดยค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก ท่านจึงได้เขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ขึ้น โดยคัดเลือกเอาพระไตรปิฎก ส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่ มาแปลลงในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนาท่านเล่าว่า "....ในนั้นมีความสมบูรณ์ของการปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะค้นคว้าสำหรับไว้ใช้เองด้วย เพื่อตามรอยเอง เพื่อใช้กับตนเอง แล้วก็เห็นว่าคนอื่นเขาก็ใช้ได้ ก็เลยให้พิมพ์ให้โฆษณาออกไป...มันเป็นตอนต้น ๆ ก่อน สมาธิ ภาวนา
เครื่องบันทึกเสียงเก่าแก่ ชนิดใช้เส้นลวดเป็นม้วนเทป เริ่มใช้งานประมาณปี ๒๔๘๕ ทำให้มีการถอดเทปคำบรรยายของพุทธทาสภิกขุ จัดพิมพ์เป็นหนังสือสำคัญ
เครื่องบันทึกเสียงสมัยต่อมาของท่าน ซึ่งใช้แถบเทปสีน้ำตาลแบบม้วนอย่างในปัจจุบัน
ตู้เก็บสื่อต่าง ๆ ในห้องทำงานชั้นล่างของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งมักมีทั้งภาพถ่าย สไลด์ เทปเส้นลวด
วรรณกรรมคู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์
การยืนปาฐกถาธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ
ด้วยความรู้ความสามารถของท่านพุทธทาส จึงได้รับการถวาย "ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์" สาขาต่าง ๆ จากสถาบันหลายแห่ง ดังนี้
๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ ได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ได้รับการถวาย อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
๓ ธันวาคม ๒๕๒๘ ได้รับการถวาย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ได้รับการถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ได้รับการถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ได้รับการถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ได้รับการถวาย ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสยังได้รับการถวายรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนี้
– สแวเรอร์ ได้สรรเสริญท่านพุทธทาสว่าเป็น "นาคารชุนแห่งเถรวาท" กล่าวคือ เป็นผู้ปฏิวัติชำระสะสาง ปฏิรูปพุทธศาสนา ทั้งในด้านวิชา ความรู้ และวิธีดำเนินการ ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น สะอาดยิ่งขึ้น และก้าวหน้ายิ่งขึ้น (นาคารชุนคนแรก เป็นผู้ปฏิวัติพุทธศาสนาในสมัยนาลันทา ที่อินเดีย)
– พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือ แก่นพุทธศาสน์ ที่ท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช) มหาวิทยาลัย แพทย์ศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๔ ได้รับรางวัลชนะเลิศ "หนังสือดีประจำปี ๒๕๐๘" จาก องค์การยูเนสโก้ แห่งสหประชาชาติ
– พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านพุทธทาส ได้รับคัดเลือกจากทางราชการ ประเภทบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิต ในโอกาสสมโภชน์กรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์ "เสาอโศก" และเงินสดหนึ่งหมื่นบาท
– พ.ศ. ๒๕๓๗ ครุสภา ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส) ว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาของชาติ เนื่องในโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
ความเจ็บไข้ของท่านพุทธทาส
โรคประจำตัวของท่านซึ่งเป็นมาตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี คือ ท้องผูกและเป็นริดสีดวง ท่านเล่าว่า สมัยหนุ่ม ๆ ไม่มีล้มเจ็บหนัก อย่างมากเป็นไข้มาเลเรีย ๒–๓ วัน แต่ตอนหลัง ๆ เป็นหวัดแค่ ๒–๓ วัน ก็เรียกว่าเจ็บหนักแล้ว ในปี ๒๕๐๕ ท่านเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ที่โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาปี ๒๕๒๗ เข้ารับการรักษาด้วยอาการที่สมอง ที่โรงพยาบาลศิริราช
พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านมีอาการอาพาธกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๔ มีอาการหัวใจวายและน้ำท่วมปอด วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ท่านมีอาการอาพาธอีกครั้ง ด้วยเส้นเลือดสมองอุดตัน และต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ท่านอาพาธด้วยเส้นเลือดแตกในสมองอีก ซึ่งท่านถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ได้นำท่านกลับมาที่สวนโมกข์อีกครั้ง ก่อนที่จะนำท่านเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช จนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๓๖ บรรดาศิษย์จึงนำท่านกลับมาที่สวนโมกขท่านพุทธทาสจึงถึงการมรณภาพที่สวนโมกข์ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ เวลา ๑๑.๒๐ น.
ก่อนกาลมรณภาพ
พระสิงห์ทอง เขมิโย ท่านเป็นชาวจังหวัดขอนแก่นมีโอกาสไปจำพรรษาอยู่สวนโมกข์และได้ถวายตัวเป็นพระอุปัฏฐากดูแลอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้เล่าว่าในเช้าเวลาประมาณ ๔.๐๐ น.ของวันที่ ๒๕พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ท่านพุทธทาสภิกขุลุกขึ้นเตรียมงานที่จะพูดในวันล้ออายุที่๒๗พฤษภาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นครบรอบวันเกิดของท่านเอง และจะมีการจัดงานล้ออายุขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่สักครู่หนึ่งท่านก็ปิดไฟล้มตัวลงนอนและบอกท่านสิงห์ทอง ให้พระไปตามพระครูปลัดศีลวัฒน์ (โพธิ์ จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลสวนโมกข์ มาพบท่านท่านได้กล่าวกับท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ ว่า "...น่ากลัวอาการเดิม (เส้นเลือดในสมองอุดตัน) จะกลับมาอีก..."นอกจากนี้ ยังบอกท่านพรเทพ ฐิตปญฺโ ว่า "...เอาย่ามของเรามาที ไปเก็บ แล้วก็กุญแจในกระเป๋านี่ เอาไปด้วย เราไม่อยากจะตายคากุญแจ (กุญแจตู้เอกสารหนังสือ)..."จนเวลาประมาณ ๗.๐๐น. เศษ ท่านได้กล่าวกับ นพ.ประยูร ที่เข้ามาพบท่านว่า "...มันเพลีย วันนี้ไม่อยากทำอะไร เดินก็ไม่เดิน ข้าวก็ไม่ฉัน แล้วไม่อยากฉัน มันเพลียเหลือเกิน..." แล้วท่านก็นอนทำท่าจะหลับเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ท่านพุทธทาสเรียกท่านสิงห์ทองอีกครั้งและกล่าวว่า "...ทอง ทอง เราจะพูดไม่ได้แล้ว ลิ้นมันแข็งไปหมดแล้ว..."จากนั้น ท่านก็พูดออกมาอีก ๔-๕ ช่วง แต่พระองค์อื่น ๆ แสดงปฏิกริยาว่ารับรู้ไม่ได้ ท่านก็หยุด แล้วท่านก็สาธยายธรรม ซึ่งท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ จับได้ว่า ท่านพุทธทาส สาธยาย "นิพพานสูตร" ทบทวนไป ทบทวนมา
"...อตฺติ ภิกฺขเว ตทายตนํ, ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโชน วา โย, น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญฺาณญฺ จายตนํ น อาภิญฺจญฺญา ยตนํ น เนวสญฺญา นาสญฺญายตนํ, นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโก จนฺทิมสุริยา, ตมหํ ภิกฺขเว เนว อาคตึวทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ นอุปฺปตฺตึ อปฺปติฏฐํ อปฺ ปวตฺตํ อนา รมฺมณ เมว ตํ, เอ เสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ..."
คำแปลว่า...ภิกษุทั้งหลาย ! "สิ่ง" สิ่งนั้นมีอยู่, เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่ใช่อากาสานัญ จายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่างภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีอันเดียวกับ "สิ่ง" สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ, ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น, สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไปและสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์;นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ล่ะท่านพุทธทาสได้สาธยายนิพพาสูตร จนกระทั่งท่านหมดความรู้สึกไป
เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ปริมาณเลือดมากขึ้น ๆ จนกดทับเนื้อสมองต่อจากนั้น คณะศิษย์ได้นำท่านเข้ารักษาที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และนำท่านกลับสวนโมกข์ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม จากนั้นได้นำท่านเข้ารักษาที่รพ.ศิริราช อีกครั้ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย จวบจนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. คณะศิษยานุศิษย์ จึงนิมนต์ท่านกลับสู่สวนโมกข์ พร้อมคณะแพทย์ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด จนในที่สุด ชีพจรท่านหยุดเต้น ท่านพุทธทาสได้มรณภาพโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๑.๒๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ รวมอายุท่านได้ ๘๗ ปี ๑ เดือน ๑๑ วัน
การเก็บบรรจุศพ (หลังศาลาธรรมโฆษณ์)
ท่านพุทธทาสได้ทำพินัยกรรม เรื่องการจัดงานศพของท่าน ซึ่งท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยท่านระบุในพินัยกรรมไม่ให้ฉีดยาศพ ไม่ให้จัดงานพิธีใด ๆ ให้เผาศพโดยวิธีเรียบง่ายที่สุด และนำอัฐิไปเก็บไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในศาลาธรรมโฆษณ์ พร้อมกับให้เทปูนซีเมนต์โบกทับ ส่วนอังคารให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน นำไปลอยที่ช่องหมู่เกาะอ่างทอง ที่เขาประสงค์ และที่ต้นน้ำตาปีที่เขาสก
การเผาศพ
สวนโมกข์ได้จัดให้มีการเผาศพท่านพุทธทาส ในวันทำวัตร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ ณ บริเวณเขาพุทธทอง โดยใช้พิธีตามแบบโบราณ คือปักเสา ๔ ต้น ดาดเพดานด้วยผ้าขาวเริ่มทำพิธีเผาเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. โดยท่านพระเทพวิสุทธิเมธี (ท่านปัญญา) เป็นประธานในการจุดไฟ พระภิกษุจำนวนนับพันองค์ นั่งสวดมนต์ ดังกระหึ่มทั่วบริเวณภูเขาด้านขึ้นไปทางโบสถ์ ส่วนอีกด้านหนึ่ง ให้ประชาชนได้เดินผ่านไปเคารพศพได้อย่างทั่วถึงทุกคนมาเผาศพ นั่นเป็นการพูดไปตามกิริยาภายนอก แต่ว่าคนฉลาดคงจะพูดว่า มาเพื่อการศึกษาการเผาศพมันจะศึกษาอะไรได้บ้างขอให้คิดดู แต่ว่าการศึกษานี่มันลำบากเหมือนกัน ถ้าหูมันหนวกมันก็ไม่ได้ยิน ตามันบอดก็ไม่เห็นแล้ว ถ้าตามันไมบอดมันก็เห็นเห็นกระแส การเกิด แก่ เจ็บตาย เห็นชีวิตชีวาที่เกิดมา แล้วเป็นไปอย่างไร
สัจจธรรมบทสุดท้ายของชีวิต
สัจจธรรมบทสุดท้ายของชีวิต ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นธรรมดา เช่นนั้นเอง (ตถตา) เห็นธรรมชาติคือเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง